เมื่อเราซื้อโคมไฟมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญนั่นคือการบำรุงรักษานั่นเอง อย่างที่ทราบกันดีว่าโคมไฟนั้นจะประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นโป๊ะโคมที่ผลิตขึ้นมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน และส่วนที่เป็นหลอดไฟและสวิตช์ไฟ ซึ่งโคมไฟทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นโคมไฟระย้า โคมไฟเพดาน โคมไฟตั้งโต๊ะ โคมไฟตั้งพื้น ฯลฯ ก็จะมีหลักการดูแลรักษาและรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันออกไป ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับวัสดุของตัวโคมไฟด้วย
ทำความสะอาดโคมไฟอย่างสม่ำเสมอ เรื่องสำคัญต้องห้ามลืม
อย่างที่บอกไปว่าการดูแลรักษาโคมไฟเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นเราควรจะต้องหมั่นดูแลทั้งหลอดไฟและตัวโป๊ะโคมไฟ โดยประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช้แต่หลอดไฟจะสะอาดขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย เพราะเมื่อหลอดไฟสะอาด ก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ต้องเปลืองพลังงานเลยโดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักจะมองข้ามจุดนี้ไป จะมาสนใจอีกครั้งก็ต่อเมื่อหลอดไฟชำรุดเรียบร้อยแล้ว และในการดูแลควรทำอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี หรือเฉลี่ยทุก ๆ 3 เดือนนั่นเอง โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ตามนี้
- ปิดสวิตช์ไฟส่วนของโคมไฟที่ต้องการทำความสะอาดเสียก่อน
- เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น ควรใช้เทปกาวปิดสวิตช์ไฟส่วนโคมไฟนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาเปิดขณะที่ทำงาน
- ใส่ถุงพลาสติก, ถุงมือผ้า หรือหาวัสดุที่นิ่ม เช่น ผ้า มารองมือไว้ ก่อนที่จะทำการถอดหลอดไฟและเพื่อป้องกันคราบไขมันที่มือไปติดที่หลอดไฟ เพราะหลอดบางชนิดไม่ควรเอามือจับที่หลอดโดยตรง
- วางอุปกรณ์ป้องกันการหลุดล่วงขอลหลอดโคม ไว้ใต้โคมหรือบริเวณที่ทำงาน
- ทำการถอดหลอดไฟออกแล้วทำความสะอาด เช็ดถู ตรวจสภาพหลอดและขั้วให้เรียบร้อย เสร็จแล้วนำใส่เข้าไปดังเดิม
โคมไฟประเภทต่าง ๆ ควรดูแลอย่างไร
โคมไฟระย้า
โดยทั่วไปแล้วแชนเดอเลียร์ (โคมไฟระย้า) ควรทำความสะอาดทุก 6 เดือน – 1 ปี แต่ถ้าหากติดตั้งไว้ในส่วนของบ้านที่สกปรกง่าย เช่น ห้องครัว หรือบ้านอยู่ใกล้แหล่งที่มีฝุ่นอยู่มาก อาจต้องทำความสะอาดบ่อยขึ้น ความถี่ในการทำความสะอาดอาจจะอยู่ที่ 4 ครั้งต่อปี ส่วนการดูแลทำความสะอาดแชนเดอเลียร์หรือโคมไฟระย้านั้นทำได้ง่ายๆ คือ
- ปิดสวิตช์ไฟโคมไฟระย้าที่ต้องการทำความสะอาด ใช้เทปกาวปิดสวิตซ์โคมไฟระย้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครเปิดโคมไฟระย้าในขณะที่ทำความสะอาด
- ใช้ถุงพลาสติดครอบดวงไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหลอดไฟ
- ใช้อุปกรณ์เซฟตี้ ที่ใช้ในการป้องกันการหลุดร่วงของโคมไฟระย้า
- ทำความสะอาดโคมไฟระย้า และควรระมัดระวังไม่ให้ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าเปียก หลังจากนั้นทำความสะอาดชิ้นส่วนที่ไม่ใช่คริสตัล ด้วยผ้าที่นุ่มจุ่มลงไปในน้ำเพื่อนทำความสะอาด วัสดุ ที่เป็นทองเหลือง สเตนเลส ฯลฯ
- ตรวจสอบความสะอาด และความเรียบร้อยของโคมไฟระย้า แล้วทิ้งไว้ประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปิดใช้โคมไฟระย้าอีกครั้ง
โคมไฟตั้งพื้น
โคมไฟประเภทนี้ถือว่าดูแลรักษาไม่ยากเลย เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ส่วนวิธีการทำความสะอาดก็คล้าย ๆ กับเครื่องใช้ในบ้านทั่ว ๆ ไป โดยขั้นตอนการทำความสะอาดไม่ยุ่งยากและซับซ้อนเลย
- ยกโคมไฟออกไปนอกบริเวณบ้าน จากนั้นใช้ผ้าเช็ดฝุ่นออกจากโคมไฟอย่างเบามือ ไม่ควรใช้ไม้ปัดขนไก่เพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย
- จากนั้นให้ฉีดสเปรย์ทำความสะอาดไปที่โคมไฟให้ทั่ว จากนั้นใช้ผ้าแห้งอีกผืนเช็ดโคมไฟตั้งพื้นให้สะอาด
- วางโคมไฟตั้งพื้นให้ถูกลม ไม่ควรวางไว้กลางแดด
- ความถี่ในการทำความสะอาดนั้น เนื่องจากโคมไฟตั้งพื้นบำรุงรักษาง่าย ดังนั้นจึงควรทำทุกเดือน
โคมไฟตั้งโต๊ะ
เป็นโคมไฟประเภทที่เราคุ้นตาและเห็นว่าน่าจะนิยมใช้กันมากที่สุด เพราะใช้งานได้อย่างสะดวก สามารถให้แสงสว่างเพื่อทำกิจกรรมได้อย่างตรงจุด การดูแลรักษาก็ง่ายไม่ต่างจากโคมไฟตั้งพื้นเท่าไหร่นัก โดยมีขั้นตอนการดูแลรักษาดังนี้
- ก่อนทำความสะอาดโคมไฟตั้งโต๊ะ ควรเคลียร์โต๊ะให้เรียบร้อยก่อน
- สังเกตดูว่าฝุ่นเกาะโคมไฟหนามากน้อยเพียงใด
- ใช้ผ้าแห้งขนนุ่มหรือฟองน้ำเช็ดทำความสะอาดโคมไฟตั้งโต๊ะ จากนั้นให้ฉีดสเปรย์ทำความสะอาดให้ทั่ว แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดให้สะอาดอีกครั้ง หากเป็นโคมไฟแก้วสามารถใช้กระดาษทรายเบอร์ 2000 มาขัดเบา ๆ และนำผ้าฉีดสเปรย์ทำความสะอาดโดยการเช็ดอีกครั้ง
- รอให้แห้ง เช็กสภาพหลอดไฟว่าชำรุดหรือไม่ เมื่อไม่มีปัญหาใด ๆ ก็สามารถนำมาเสียบปลั๊กใช้งานได้ตามปกติ
จะเห็นได้ว่าการทำความสะอาดเพื่อดูแลรักษาโคมไฟให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน ประหยัดไฟ และปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการดูแลโคมไฟเพดาน โคมไฟตั้งพื้นหรือโคมไฟตั้งโต๊ะก็ดี ก็ต้องไม่ละเลยที่จะดูแลหลอดไฟภายในโคมไฟด้วยเช่นกัน